วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

ม.อ. ห่วงป่าพรุเสื่อมโทรม


มอ.ดันทะเลสาบสงขลาขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทำวิถีชีวิตคนในพื้นที่เปลี่ยน แนะรัฐเร่งกำหนดนโยบายฯ ให้คงสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ...

รอง ศาสตราจารย์ ดร.นพรัตน์ บำรุงรักษ์ นักวิชาการจากสถาบันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า จากการลงสำรวจพื้นที่สภาพป่าพรุควนเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มแม่น้ำทะเลสาบสงขลา ที่มีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุงและสงขลา พบว่าระบบนิเวศน์ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งรับน้ำมีความเสี่ยงสูงที่ถูกทำลาย เนื่องจากการรุกล้ำพื้นที่ของป่าพรุของกลุ่มเกษตรกร เพื่อนำพื้นที่ไปทำการเกษตรกรรม

ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรที่รุกล้ำพื้นที่เพื่อเพาะปลูกปาล์ม ได้ทำการขุดคูย้ายดินยกร่องน้ำให้สูง รวมถึงการขุดคลองชลประทานสายชะอวด-แพรกเมือง และการขุดลอกคลองไส้ไก่ เพื่อใช้ในการเกษตร ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงสู่คูที่มีระดับต่ำกว่า ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ โดยปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ป่าพรุลดลง ทำให้ระบบนิเวศน์ของพืช สัตว์ แหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำได้รับความเสียหาย เกิดไฟไหม้พรุในฤดูกาลที่น้ำใต้ดินลดต่ำ นอกจากนี้ ยังส่งผลการเจริญเติบโตของต้นกระจูด ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบของอุตสาหกรรมครัวเรือน ที่กลุ่มชาวบ้านใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเสื่อ ทำใบเรือ และทำกระสอบบรรจุสินค้าเกษตร ถูกทำลายลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่น่าเป็นกังวลว่า อาจจะทำให้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนทะเลสาบสงขลาเป็นมรดกโลกทางนิเวศวัฒนธรรมได้

นักวิชาการจากสถาบันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. กล่าวด้วยว่า ภาครัฐควรเร่งกำหนดนโยบายที่ชัดเจนต่อการอนุรักษ์ป่าพรุควนเคร็ง ให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำหรือเลือกพัฒนาให้เป็นพื้นที่เพื่อเกษตรกรรม ที่ต้องศึกษาปริมาณน้ำในพื้นที่รับน้ำของป่าพรุ และสร้างกลไกในการประสานกับหน่วยงานการเปิดปิดประตูระบายน้ำ เพื่อรักษาระดับน้ำใต้ดินให้อยู่ใกล้ผิวดินตลอดทั้งปี เพื่อคงสภาพป่าพรุควนเคร็งที่เป็นแหล่งระบบนิเวศน์ของพืช สัตว์และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำไว้ให้ได้

ปัญหาระบบนิเวศน์ที่เกิด ขึ้นของป่าพรุควนเคร็ง เกิดจากการการรุกล้ำพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ป่าพรุลดลง จนอาจก่อให้เกิดปัญหาไฟป่า เหมือนเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ได้ทำลายระบบนิเวศน์ในพื้นที่นับพันไร่ ดังนั้น ภาครัฐตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขและใช้หลัก การบริหารการจัดการที่ดีเพื่อเยียวยาระบบนิเวศน์ของป่าพรุควนเคร็งให้กลับ คืนสภาพดังเดิมรองศาสตราจารย์ ดร.นพรัตน์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น